--- การสื่อสารข้อมูล --- การสื่อสารข้อมูล หมายถึง การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารจากผู้ส่ง ผ่านสื่อกลางไปยังผู้รับ องค์ประกอบของการสื่อสาร การส่งข่าวสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง จำเป็นต้องพึ่งพาส่วนประกอบหลายส่วนด้วยกัน จึงทำให้การสื่อสารนั้นเสร็จสมบูรณ์ลงได้ จำเป็นต้องมีองค์ประกอบ 5 ประการดังนี้ 1.ข้อมูล ข้อมูลในที่นี้ก็คือ ข่าวสารที่ต้องการส่งไปยังปลายทาง ข่าวสารเหล่านี้อาจเป็นข้อความ ภาพ วิดีโอ หรือสื่อประสม (Multimedia) ทั้งนี้ข้อมูลที่จะส่งไปจะได้รับการเข้ารหัส และส่งผ่านสายส่งข้อมูลไปยังปลายทาง ครั้งเมื่อปลายทางได้รับข้อมูลแล้ว ก็จะดำเนินการถอดรหัสข้อมูลข่าวสารนี้ ให้กลับมาอยู่ในรูปแบบข้อมูลเดิมเหมือนกับต้นฉบับที่ส่งมา 2.ผู้ส่ง ผู้ส่งคือ อุปกรณ์ที่นำมาใช้สำหรับการส่งข่าวสาร ตัวอย่างอุปกรณ์ส่งข้อมูลเช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เป็นต้น 3.ผู้รับ ผู้รับคือ อุปกรณ์ที่นำมาใช้สำหรับรับข่าวสารที่ส่งมาจากฝ่ายส่งข้อมูล ตัวอย่างอุปกรณ์รับข้อมูล เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น 4.สื่อกลางส่งข้อมูล สื่อกลาง หรือ ช่องทางการสื่อสาร เป็นสิ่งที่ช่วยให้ข้อมูลข่าวสารเดินทางจากผู้ส่งไปยังผู้รับได้โดยสะดวก ซึ่งมีหลายรูปแบบ ดังนี้ สายสัญญาณชนิดต่างๆ คลื่นสัญญาณชนิดต่างๆ อุปกรณ์เสริมชนิดต่างๆ 5.โพรโทคอล การสื่อสารระหว่างต้นทางไปยังปลายทางจะสมบูรณ์ต่อเมื่อทั้งผู้ส่งและผู้รับต่างสามารถสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ ดังนั้นโพรโทคอลจึงมีบทบาทหน้าที่สำคัญเพื่อการนี้ โดยโพรโทคอลจะเปรียบเสมือนภาษาหรือข้อกำหนดเพื่อให้ผู้ส่งและผู้รับสามารถสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามกติกาและข้อตกลง และส่งผลให้การสื่อสารทั้งสองฝ่ายเกิดผลสัมฤทธิ์ในที่สุด ทิศทางการส่งข้อมูล ในการสื่อสาร สามารถส่งข้อมูลในทิศทางต่างๆ ได้หลายรูปแบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่รับส่งข้อมูลนั้นได้รับการออกแบบเพื่อการส่งข้อมูลในรูปแบบใด สำหรับทิศทางการส่งข้อมูลนี้ สามารถมีอยู่ 3 รูปแบบด้วยกัน คือ 1.การสื่อสารแบบชิมเพล็กซ์ (Simplex) เป็นการสื่อสารแบบทิศทางเดียว โดยจะมีแต่ละฝ่ายทำหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งเท่านั้น เช่น ฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ส่ง ดังนั้นอีกฝ่ายหนึ่งก็จะทำหน้าที่เป็นผู้รับเท่านั้น ตัวอย่างของการสื่อสารแบบชิมเพล็กซ์ เช่น การกระจายเสียงของสถานีวิทยุ การแพร่ภาพทางโทรทัศน์ และการส่งข้อความผ่านทางเพจเจอร์ เป็นต้น 2.การสื่อสารแบบฮาล์ฟ-ดูเพล็กซ์ (Haft-Duplex) เป็นการสื่อสารแบบสองทิศทางสลับกัน ด้วยการส่งข้อมูลผ่านช่องสัญญาณเดียว ดังนั้นจึงไม่สามารถรับส่งพร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน การกดสวิตช์ในแต่ละครั้ง จึงเป็นการสับสวิตช์เพื่อให้อยู่ในสถานะเป็นผู้ส่งข้อมูลหรือเป็นผู้รับข้อมูล ตัวอย่างการสื่อสารชนิดนี้ก็คือ วิทยุสื่อสารของตำรวจ 3.การสื่อสารแบบฟูล-ดูเพล็กซ์ (Full-Duplex) เป็นการสื่อสารแบบสองทิศทางในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ทั้งผู้ส่งและผู้รับสามารถสื่อสารกันในขณะเดียวกันได้ ตัวอย่างการสื่อสารแบบฟูลดูเพล็กซ์ เช่น โทรศัพท์ ซึ่งคู่สนทนาสามารถคุยโต้ตอบกันได้ในช่วงเวลาเดียวกัน |